วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ตลาดปสาน

น.ส.วชิราภรณ์ มีแก้ว
ชั้น ม.5 ห้อง 946 เลขที่ 28


       สำหรับตลาดของไทยนั้นมีมาคู่บ้านคู่เมือง ตั้งแต่เรามีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เราจะมองเห็นความเรียบง่าย และความเป็นอิสระในการตลาดสมัยนั้น ได้จากข้อความตอนหนึ่งในหลักศิลาจารึก ดังนี้
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
<><><><><>
“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยนี้ดี
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง
เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย
ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า”

      และอีกตอนหนึ่งที่ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดว่า
"เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน
มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง
มีไร่นา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก"



คำว่า “ตลาดปสาน” มีรากคำมาจากภาษาเปอร์เซียว่า ปลาซา (Plaza) หมายถึง ตลาดในที่โล่งแจ้ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สภาพของตลาดเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของอยุธยาที่มีแม่น้ำโอบล้อม ลักษณะของตลาดจึงมีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ (หรือตลาดเรือ) มีการติดตลาดกันทั้งวัน มีทั้งของสด ของแห้ง และของป่า
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว กรุงธนบุรีได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งใหม่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของธนบุรีเหมาะที่จะเป็นเมืองหน้าด่านทางน้ำ เนื่องจากเรือสินค้าทุกลำจะต้องผ่านน่านน้ำนี้ จึงเป็นตลาดการค้าที่มีเงินหมุนเวียนมากมาย เป็นแหล่งที่ตั้งด่านภาษีซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ขนอนบางกอก”
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนหนึ่งระบุว่า “ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ เห็นประโยชน์ในการแต่งเรือไปค้าขายต่างเมือง มีเรือหลวง และเรือสำเภาเจ้านายและพ่อค้า แต่งไปค้าขายตามเมืองต่างๆของประเทศทางตะวันตกไปจนถึงเมืองอินเดีย ข้างใต้ไปจนถึงเมืองชวา ข้างตะวันออกไปจนถึงเมืองจีน”




จากสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ มีพ่อค้าชาวตะวันตกเข้ามาตั้งตลาดแบบตะวันตกขึ้นในเมืองไทย เรียกกันว่า “ห้างฝรั่ง” เช่น ห้างฮันเตอร์และเฮย์ ห้างแบดแมนแอนด์โก ส่วนห้างของชาวเอเชียก็มี ห้างมัทราส และห้างบอมเบย์ ของชาวอินเดีย สำหรับชาวจีนนั้นมาตั้งหลักแหล่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เช่น ชุมชนกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรี ตลาดท่าเตียน และปากคลองตลาดทางฝั่งกรุงเทพฯ
ในบรรดาชาติตะวันตกที่เข้ามาค้าขายในไทย โปรตุเกสถือเป็นชาติแรกที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากการติดต่อค้าขายกัน ทำให้คนไทยได้รับวัฒนธรรมด้านอาหารการกินสืบทอดมาจากชาวโปรตุเกส อาหารหลายชนิดเป็นสินค้าที่ได้รับ ความนิยมมากในปัจจุบัน เช่น ขนมปังปอนด์ ไส้กรอก เหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก มันฝรั่ง นอกจากนี้ ขนมหวานที่มีคำนำหน้าหรือคำประกอบว่า “ทอง” เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ทองเอก ทองม้วน ฝอยทอง เป็นต้นตำรับของสตรีชาวโปรตุเกสที่มีชื่อว่า มารี กีมาร์ เด ปินา (Marie Guimar de Pina) หรือที่คนไทยเรียกว่า ท้าวทองกีบม้า ซึ่งได้ดัดแปลงขนมของชาวโปรตุเกส ให้มีรสชาติแบบที่คนไทยชอบรับประทาน จนกระทั่งกลายเป็นขนมไทยที่ทำขายกันทั่วไปในปัจจุบัน



ตลาดหลายแห่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีประวัติที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อค้าชาวต่างชาติ เช่น ตลาดสำเพ็งและตลาดเยาวราช ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของชาวจีน เกิดขึ้นจากการสร้างพระบรมมหาราชวัง และได้ย้ายคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณนั้นให้ไปอยู่ที่สำเพ็ง แล้วขยายไปยังถนนเยาวราชในระยะเวลาต่อมา
เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ตลาดของไทยมีความสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในทุกชุมชนจำเป็นต้องมีตลาด และยังได้มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จากตลาดสด ตลาดนัด ตลาดบก ตลาดน้ำ แล้วมีวิวัฒนาการไปสู่ตลาดอีกหลากหลาย เช่น ตลาดไม้ดอกไม้ผล ตลาดวัวควาย ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตลาดเครื่องแต่งบ้าน ตลาดรถยนต์ ตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์หรือเครื่องใช้ทางศาสนา ตลาดหนังสือ ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนตลาดสินค้าที่โฆษณาซื้อขายทางโทรทัศน์ และตลาดการค้าผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข้อมูล : http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK28/chapter3/t28-3-m.htm

1 ความคิดเห็น: